Page 76 - ebook.msu.ac.th
P. 76

คำให้สัมภาษณ์ของชาวไทแดงเอง จากการเก็บข้อมูลภาคสนามที่บ้านสบฮาว นายบุนสี ชาวไทแดง
               บ้านสบฮาว อายุ ๖๒ ปี กล่าวว่า ชุมชนไทแดงบ้านสบฮาวนี้ ตั้งขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ นับถึงปัจจุบัน
               ก็เป็นระยะเวลากว่า ๑๖๔ ปี โดยกลุ่มคนที่มาตั้งหมู่บ้านในยุคแรกนั้นอพยพมาจากเมืองแดง ผ่านเข้ามาทาง

               เมืองโสย และมาตั้งบ้านอยู่ในพื้นที่บริเวณบ้านสบฮาวปัจจุบัน


                      กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทแดง มีเอกลักษณ์สำคัญทางวัฒนธรรมหลายประการ ที่น่าสนใจ และเป็นข้อมูลที่จะ
               ช่วยให้เข้าใจถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ลักษณะอย่างหนึ่งที่ควรจะได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ เนื่องมีความสำคัญ

               เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของกลุ่มชนโดยตรงคือลักษณะของ เรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งจากการศึกษา
               ข้อมูลเกี่ยวกับเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทแดง บ้านสบฮาว มีลักษณะ และรายละเอียดต่างๆ กล่าวคือ


                      ลักษณะโดยรวมของเรือนผู้ไทแดง มีหลังคาทรงจั่วแคบ และเปิดปีกหลังคาทั้งสองด้านให้ลาดลงมา

               คลุมตัวเรือนทั้งหลังจนเกือบจะถึงพื้นเรือน มุงหลังด้วยหญ้าคา จะทำตัวเรือนเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาว ตัวเรือนยก
               พื้นสูง เสาเรือนทำจากไม้เนื้อแข็งถากให้กลมวางบนแผ่นหินหรือก้อนหิน ใช้คานไม้วิ่งตามแป โดยเจาะสอดใส่

               ในเสา และใช้ตงไม้จริงต่อจากตัวเรือนออกมาด้านหน้าจะมีระเบียงที่ทำราวกั้นเรียกว่า “เซีย” ทำหลังคามุง
               ครอบลงมา เป็นที่สำหรับทอผ้า หรือนั่งทำงานจักสาน ส่วนด้านหลัง หรือด้านข้างนิยมทำเป็นชานต่อยื่นออก
               จากตัวเรือน บริเวณส่วนนี้จะไม่มุงหลังคา เนื่องจากเป็นพื้นที่ใช้สำหรับการประกอบอาหาร และทำเป็นที่ตากผ้า

               หรือเก็บภาชนะ วัสดุ และเครื่องมือใช้สอยชนิดต่างๆ เช่น ตั้งโอ่งน้ำ, คุ, เครื่องมือจับสัตว์ ด้วยแต่เดิมนั้นเรือน
               ผู้ไทแดงไม่มีครัว จะประกอบอาหารกันบนเรือน


                      ฝาเรือนผู้ไทแดงในอดีตนิยมทำจากไม้ไผ่สับฟาก หรือไม้ไผ่สานขัดแตะ พื้นเรือนปูด้วยไม้ไผ่สับฟาก

               ส่วนครอบครัวที่มีฐานะดี หรือมีแรงงานครอบครัวจำนวนมาก จะใช้กระดานไม้เนื้อแข็งมาทำฝาเรือนและปูพื้น
               เรือน แต่เดิมนั้นเรือนผู้ไทแดงจะมีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงสถานภาพของผู้เป็นเจ้าของเรือน โดยสังเกตได้จาก

               แปหลังคาซึ่งจะมีแปหลบด้วยแตะไม้และปักแหล่งด้วยไม้แหลมเสียบเรียกว่า “ซองแมว” ขัดไว้ ถ้าหากเจ้าของ
               เรือนเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปจะใส่กลอนแหล่งอันเดียว แต่ถ้าหากเจ้าของเรือนเป็นอาชญา เจ้านาย หรือเป็น
               ผู้ปกครองจะใส่กลอนแหล่งคู่ หากผู้ใดละเมิดกฎเกณฑ์นี้จะถูกลงโทษ



                      ด้านในตัวเรือนจะแบ่งเป็นห้องนอนตามช่วงเสา แต่ละห้องกั้นด้วยผ้าฝ้ายสีดำ ปัจจุบันบางแห่งมีการใช้
               ตู้เสื้อผ้ากั้นแทน ห้องแรกจะเป็นห้องนอนของเจ้าเรือนคือปู่ย่า ในกรณีที่ปู่ย่าอยู่ด้วยกันซึ่งเป็นห้องที่ติดกับห้อง
               รับแขกถ้าหากไม่มีปู่ย่าอยู่ด้วยห้องนี้จะเป็นห้องของพ่อแม่ ห้องถัดไปจะเป็นห้องนอนของพ่อแม่ และห้องนอน

               ของลูกตามลำดับ ลูกชายที่ยังเล็กจะนอนห้องติดกับพ่อแม่ เมื่อโตแล้วจะได้ไปนอนที่บริเวณห้องรับแขก ส่วน
               ลูกสาวจะนอนห้องที่ติดกับชานเรือน หากมีห้องเหลือก็จะทำเป็นห้องสำหรับเก็บของ นอกจากนี้ในเรือนผู้ไทแดง

               จะมีห้องสำหรับตั้งหิ้งผีเรือนเรียกว่า “หอผีเรือน” ซึ่งจะเป็นห้องแรกของเรือนที่ติดกับห้องนอนของผู้เป็นเจ้าเรือน
               ในครอบครัวที่มีเรือนขนาดเล็กมีจำนวนห้องไม่พอ ก็จะนำหอผีเรือนเข้าไปไว้ในห้องนอนของเจ้าเรือน ห้อง
               ผีเรือนนี้จะห้ามไม่ให้ลูกสะใภ้เข้าไปโดยเด็ดขาด









                                                           74
   71   72   73   74   75   76   77   78   79   80   81