Page 22 - ebook.msu.ac.th
P. 22
ความเชื่อเรื่องการเลือกไม้มาทำเสาแฮก-เสาขวัญ (เสาเอก - เสาโท) ที่เป็นเสาสำคัญยิ่งของการสร้าง
เรือนใหญ่ ซึ่งเป็นเรือนแบบประเพณีดั้งเดิมของอีสานในอดีต เพราะเป็นเสาเชิงสัญลักษณ์ของเจ้าของครอบครัว
ในเรือนใหญ่หลังนั้นๆ รวมทั้งความเชื่อเรื่อง “คะลำ” คือข้อห้ามนำไม้หลายชนิดมาทำเสาเรือนใหญ่ด้วย
เพราะไม้ต้องห้ามมากกว่า ๒๐ ชนิดนั้นมีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเรือนทั้งหมดในระยะยาว เมื่ออยู่อาศัย
แล้ว
ความเชื่อเรื่องการทำพิธียกเสาแฮก - เสาขวัญ ที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน เพราะเป็นเสาสัญลักษณ์ที่มี
ความสัมพันธ์กับเพศ สถานภาพ การแบ่งหน้าที่ในครอบครัว และความสุขอุดมสมบูรณ์ในอนาคตตามความเชื่อ
นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่ออื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น พฤติกรรมการอยู่อาศัยในเรือนใหญ่ เมื่ออยู่อาศัย
ไประยะหนึ่งแล้วมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านเรือน ทิ้งเรือนใหญ่ไปครั้งละนานๆ ต้องมีการทำพิธีแก้เคล็ด
บางอย่าง หรือเมื่อเวลาผ่านไปนานจนเรือนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมในบางส่วนก็จะมีความเชื่อข้อปฏิบัติและข้อห้าม
ในการปรับปรุงเรือนใหญ่กำกับไว้ด้วย เป็นต้น
คุณค่าของงานช่างฝีมือดั้งเดิม
๑. รูปแบบของเรือนใหญ่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตการอยู่อาศัยทางด้านความเชื่อ
๒. รูปแบบของเรือนใหญ่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตทางด้านเศรษฐกิจในครอบครัว
๓. รูปแบบของเรือนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับระบบสังคมครอบครัว คือ ครอบครัวเดี่ยว
และครอบครัวรวม
ก. ครอบครัวเดี่ยว = ตูบต่อเล้า ตูบเหย้า เหย้า
ข. ครอบครัวรวม = เรือนใหญ่ เรือนใหญ่มีโข่ง
เมื่อถึงเวลาหนึ่งจะมีการแยกออกจากครอบครัวรวม ไปอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวหมุนเวียนกันไป
เรื่อยๆ
๔. เทคนิคการก่อสร้างเรือนใหญ่จะมีความซับซ้อน ประณีต เพราะเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิต
การสร้างครอบครัวในสังคมอีสานที่ต้องมี “เรือนใหญ่มุงแป้นกระดาน” ให้ได้ จึงเป็นงานช่างที่
ต้องสั่งสมและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในหลายๆ ส่วนของการก่อสร้าง
สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานช่างฝีมือดั้งเดิม
สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และทักษะฝีมือช่างก่อสร้างเรือนอีสานตกอยู่ในภาวะเสี่ยง
ต่อการสูญสลายมากที่สุด ที่จำเป็นต้องปกป้องคุ้มครองอย่างเร่งด่วน
เพราะเรือนใหญ่ในอดีตสร้างด้วยไม้จริงมีการเสื่อมสภาพเมื่อมีอายุมาก มีสภาพเก่าชำรุดทรุดโทรม
วิถีชีวิตในสังคมใหม่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและค่อนข้างก้าวกระโดด คนรุ่นกลางในวัยแรงงานออกไปทำงาน
นอกหมู่บ้านนานๆ เหลือเพียงผู้สูงอายุและเด็ก ขาดกำลังที่จะดูแลบำรุงรักษา ครั้นเมื่อมีฐานะเศรษฐกิจเพียงพอ
จะทำได้ ก็มักจะรื้อเรือนใหญ่หลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยหลังใหม่ด้วยวัสดุปูนซีเมนต์และ
เหล็กแบบบ้านจัดสรรชั้นเดียว (ขนาดเหย้าและตูบเหย้า) พออยู่อาศัยได้ หรือไม่ก็มักจะสร้างเป็นตึก ๒ ชั้น ตาม
กระแสนิยมเป็นปกติธรรมดา แม้อาจจะมีบางคนคิดจะสร้างใหม่ด้วยไม้ให้คล้ายเรือนใหญ่แบบดั้งเดิม ก็มีปัญหา
เรื่องไม้จริงเนื้อแข็งหาได้ยาก ราคาสูง แพงเกินกำลังฐานะเศรษฐกิจจะทำได้
20