Page 69 - ebook.msu.ac.th
P. 69

บุญชำฮะ-เบิกบ้าน : พิธีกรรมสร้างความบริสุทธิ์เพื่อชีวิตที่สมบูรณ์                    *




                                                                             ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย  นิลอาธิ




                       งานบุญพิธีกรรมในอีสานเกี่ยวกับเรื่องน้ำที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วไปก็คือ บุญบั้งไฟ ซึ่งเป็น

                บุญเดือน ๖ ตามฮีต อันเป็นช่วงต้นฤดูฝนตามปกติ

                       แต่ก็มีหลายชุมชนที่ยืดเวลาออกไปจัดในเดือนเจ็ด บางครั้งก็จัดในเดือนแปดก็มีขึ้นอยู่กับความปกติ
                หรือแปรปรวนของธรรมชาติเป็นสำคัญรวมทั้งความพร้อมและความต้องการของชุมชนด้วย
                       ส่วนบุญซำฮะ หรือบุญเบิกบ้าน ของชาวอีสานจัดเป็นบุญประจำเดือนเจ็ดตามฮีตก็จริง แต่นิยม

                จัดพิธีกรรมกันในเดือนหก (บางแห่งจัดในช่วงเดือนสามถึงเดือนห้า) ที่บริเวณ “หลักบือบ้าน” (หลักบ้าน/บือบ้าน)
                ซึ่งเป็นบริเวณลานสาธารณะในหมู่บ้านที่มักเรียกกันไปทั่วไปว่า “กลางบ้าน”

                       ที่นิยมจัดในเดือนหกก็เพราะจะไปเกี่ยวข้องกับการทำพิธีเลี้ยงผีปู่ตาซึ่งเป็นผี “อาฮักบ้าน” คือผี
                ที่ปกปักรักษาหมู่บ้าน ที่ต้องทำพิธีเลี้ยงในวันพุธของเดือนหกเป็นประจำทุกปีก่อนที่จะลงทำนา จนหลายแห่ง
                ก็ปรับเอาไปจัดต่อเนื่องรวมเป็นงานเดียวกันเลยก็มี

                       ทั้งๆ ที่เป็นบุญประจำเดือน ๗ แต่ส่วนใหญ่กลับไปนิยมจัดในเดือน ๖ ก็เพราะความเชื่อเรื่องผีปู่ตา
                หรือผีอาฮักบ้าน ที่ต้องเลี้ยงบอกกล่าวก่อนเริ่มประกอบอาชีพทำนาในปีนั้นๆ อย่างหนึ่ง

                       แต่ที่สำคัญก็คือ บุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้านจะผูกพันต่อเนื่องกับพิธีกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำนา ที่มัก
                เริ่มในช่วงปลายเดือนหกต่อเดือนเจ็ด คือ พิธีเลี้ยงผีตาแฮก ซึ่งเป็นผีอาฮักนาและการปักกกแฮก ก่อนดำนา
                และใช้เป็นขวัญในพิธีปลงข้าวให้เป็นมงคลตามความเชื่อต่อไป



                หลักบือบ้านและผาม สถานที่ทำบุญซำฮะ-เบิกบ้าน


                       หลักบือบ้านส่วนใหญ่จะเป็นเสาไม้จริง เสาไม้แก่น ที่มีความแข็งทนทาน และถ้าเป็นไปได้ก็จะใช้

                แก่นไม้ที่เป็นมงคลตามความเชื่อด้วย เช่นแก่นไม้คูณ แก่นไม้ยอป่า ฯลฯ มักตั้งอยู่บริเวณที่เป็นศูนย์กลางชุมชน
                หมู่บ้านซึ่งเป็นเดิ่นบ้าน คือลานดินสาธารณะที่เป็นสมบัติส่วนรวมของชุมชน
                       และมักจะตั้งอยู่ใกล้ๆ ทางแยกที่เป็นสามแยก หรือ สี่แยก ย่านกลางหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่เป็นสถานที่

                สำคัญในแต่ละชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่ใช้ทำพิธี ซำฮะ-เบิกบ้าน ที่ต้องเกี่ยวข้องกับพิธีเลี้ยงผีปู่ตาหรืออาฮักบ้าน
                (ผีอารักษ์) ก่อนลงทำนาเสมอ จนมีคำกล่าวของชาวอีสานรุ่นเก่าที่เหมือนจะกำหนดให้ต้องปฏิบัติสืบทอดกัน

                ต่อๆ มาว่า “ขึ้นให้ปลง ลงให้เลี้ยง”
                       กล่าวคือ ก่อน “ลงทำนา” แต่ละปีต้องทำพิธีเลี้ยงผีปู่ตาหรืออาฮักบ้านและเลี้ยงผีตาแฮกหรืออาฮัก
                นาก่อน และเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวรวมลานแล้ว ก่อนจะตีข้าวหรือฟาดข้าวในลานก็ต้องทำพิธี “ปลงข้าว” ก่อน

                นั่นเอง


                * พิมพ์เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๕


                                                            67
   64   65   66   67   68   69   70   71   72   73   74