Page 37 - ebook.msu.ac.th
P. 37

เหย้า : เส้นทางการสร้างครอบครัวใหม่




                                                                             ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย  นิลอาธิ




                       แม้คำว่าเหย้าในปัจจุบันดูจะกลายความหมาย ไปเป็นส่วนหนึ่งของเรือนแล้วก็ตาม แต่จากการศึกษา
                เรือนพักอาศัยของชาวอีสาน โดยพยายามจะมองผ่านเข้าไปให้เห็นความสัมพันธ์ของการใช้สอยพื้นที่ในตัวที่พัก
                อาศัยแบบต่างๆ แล้วพบว่า เหย้าเป็นที่พักอาศัยลักษณะหนึ่ง ซึ่งมีอย่างน้อย ๒ แบบ ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต

                ในครอบครัวของชาวอีสานในอดีตหลายด้านด้วยกันคือ สภาพสังคม เศรษฐกิจและความเชื่อ ที่มีแนวโน้มว่า
                จะเป็นการเตรียมอำนาจการปกครองครอบครัวต่อไปในวันข้างหน้า คือ เมื่อลูกสาวโตขึ้นจนต้องสร้างเรือนใหญ่

                เพื่อเตรียมการมีลูกเขย ซึ่งเป็นแรงงานสำคัญของครอบครัวต่อไป ทั้งเมื่อพิจารณาในแง่วัสดุและเทคนิควิธีการ
                แล้ว ก็สามารถมองเห็นความสำคัญของคนในสังคมกับธรรมชาติแวดล้อม และความร่วมมือกันของกลุ่มเครือญาติ
                ในสังคม ที่ทุกคนมีความคิดเป้าหมายเดียวกัน ในอันที่จะช่วยส่งเสริมกันสร้าง เรือนใหญ่มุงแป้นกระดาน ซึ่งเป็น

                ความสำเร็จของการสร้างครอบครัวในอดีตสังคมอีสานได้


                       แต่เนื่องจากคำว่าเหย้าในปัจจุบัน ได้กลายความหมายไปดังกล่าวแล้ว จนเหลือให้พอรู้เค้าเพียงคำพูด

                ของคนรุ่นเก่าเท่านั้นคือ มีเหย้ามีเรือน, อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และศิษย์เก่าหลายสถาบันก็เอามาใช้ในลักษณะ
                การกลับคืนสู่ถิ่นเก่าว่า คืนสู่เหย้า ก็มีอยู่มาก จึงน่าที่จะทำความเข้าใจเรื่องที่พักอาศัยที่เรียกว่าเหย้ากับเรือน
                ซึ่งแม้ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยเหมือนกันก็ตาม แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุผลทางด้านพัฒนาการ

                ที่สัมพันธ์กับระบบครอบครัว - เครือญาติ เศรษฐกิจ ความเชื่อ ฯลฯ



                       คำว่าเหย้าในหลักฐานเอกสาร


                       จากเท่าที่พบการใช้คำว่า เหย้า ในเอกสารเก่าบางแห่ง ปรากฏว่ามีการใช้รูปคำแตกต่างกันไปและ
                มักจะใช้คู่กันกับคำว่า เรือน เสมอ เช่น


                       ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ ๑ มีคำว่าเหย้าใช้อยู่ด้วยคือ................ไพร่ฟ้าหน้าใส

                ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ ล้มตายหายกว่า อย้าวเรือนพ่อเอ เสื้อคำมัน ช้างขอลูกเมียเยียข้าว ไพร่ฟ้าข้าไทย.......
                (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๑ - ๒๓) จะเห็นได้ว่าศิลาจารึกใช้รูปคำว่า อย้าว



                       ส่วนอยู่ในอุรังคนิทาน (ตำนานพระธาตุพนม พิดาร) โดยพระเทพรัตนโมลี ใช้คำว่า เย่า ในตอนพ่อ
                ท้าวคำบางอพยพสร้างเมืองว่า........เมื่อคนทั้งหลายเข้าตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองอยู่ตามริมหนอง (หนองหาน)

                ทั้ง ๒ แล้วจึงให้น้ำบก (น้ำลดลง) แล้วบุคคลเหล่านั้นจึงพร้อมกันยกญาติพี่น้องผู้ใหญ่ของเขาคนหนึ่งขึ้น
                เป็นใหญ่ ปกปักรักษาซึ่งกันและกัน ให้สร้าง เย่าเรือน อยู่ที่นั้น แล้วจึงแต่งกันเข้าไปรับราชการงานเมือง
                และจารีตประเพณีอยู่ด้วยท้าวคำบาง เพราะเหตุดังกล่าวนี้ ราชธานีจึงมิได้มีตามริมหนอง (หาน) แต่นั้นมา

                ทั้งหลายจึงเรียกกันว่าหนองหานน้ำหล่ายเชิงชุม แต่นั้นมา

                                                           35
   32   33   34   35   36   37   38   39   40   41   42