Page 57 - ebook.msu.ac.th
P. 57

ประโยชน์ทั่วไปที่พอมองเห็นได้ทางด้านสังคมตรงจุดนี้ก็คือ เป็นโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว
                กัน และได้ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทรรศนะความคิด ความรู้ประสบการณ์ทั้งทางด้าน
                สังคมและส่วนตัวของกันและกัน


                       นอกจากนี้ก็ยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอีก

                หลายอย่างในบางโอกาส คือ ใช้เป็นสถานที่เล่นการพนันตามประสาคนว่างงาน ซึ่งเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ
                อย่างหนึ่งของชาวบ้านในชนบท และต่อมาภายหลัง เมื่อมีการจัดตลาดนัดวัวควายกันมากขึ้นในหลายๆ ท้องถิ่น

                อีสาน มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งนำควายไปเข้าตลาดนัด แล้วยังขายไม่ได้ ครั้นจะกลับบ้านก็ไม่ทัน หลายรายก็ได้
                อาศัยเถียงนาเป็นที่พักผ่อนหลับนอนชั่วคราว ด้วยเหตุนี้เถียงนาจึงทำหน้าที่เป็นเสมือนบ่อนและโรงแรมไปโดย
                ปริยาย


                       ส่วนในด้านการเปลี่ยนแปลงด้านวัสดุและเทคโนโลยีนั้นมักจะมีความสัมพันธ์กับประโยชน์ใช้สอย

                เถียงนาเป็นหลัก และบางครั้งก็จะเกี่ยวข้องกับความสามารถของเจ้าของทั้งทางด้านฝีมือ ประสบการณ์และ
                การหาวัสดุที่ต้องการ แต่ภายหลังก็มีปรากฏพบอยู่บ้างว่า จะเกี่ยวข้องกับฐานะทางเศรษฐกิจด้วยคือ ผู้มีฐานะ

                ทางเศรษฐกิจดีบางคนจะหันมาสร้างเถียงนาด้วยอิฐและปูนกันบ้างแล้ว


                       การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการใช้สอยเถียงนาในแง่มุมด้านพัฒนาการของการตั้ง
                ชุมชนหมู่บ้านก็คือ เถียงนาที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะค่อนข้างถาวรมั่นคงและมิดชิด
                สามารถตอบสนองประโยชน์ใช้สอยของครอบครัวเดี่ยวได้ดีระดับหนึ่งตลอดฤดูทำนากรณีเช่นนี้หลายแห่งจะมี

                การเปลี่ยนแปลงโดยการปรับปรุงเถียงนาให้ดีขึ้นประกอบกับถ้ามีปัญหาการเดินทางในแต่ละครั้ง และมีความ
                จำเป็นที่จะต้องแยกครอบครัวตามประเพณีนิยมของชาวอีสานแล้ว ก็อาจจะยกและแยกครอบครัวออกไปอยู่

                เถียงนาอย่างถาวรเลยก็มีอยู่ไม่น้อย

                       ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็มักจะมีเถียงนาของเพื่อนบ้านหรือต่างหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงยกและแยกครอบครัว

                ออกมาอยู่ร่วมด้วยเสมอ อย่างน้อย ๒ - ๓ ครอบครัว เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะมีการแยกครอบครัวต่อๆ กัน
                ออกไปอีกโดยการสร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกันมากขึ้นจนกระทั้งกลายเป็นชุมชนใหม่เกิดขึ้น เช่น
                บ้านคุยโพธิ์ อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด ที่เกิดเป็นชุมชนใหม่จากชาวบ้านหนองแก่ง บ้านวังยาว อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด

                แยกออกมาตั้งเพราะยากลำบากในการเดินทางที่ต้องข้ามลำชีถึง ๒ ตอน บ้านหนองขาม อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์
                เกิดจากชาวบ้านหมูม่น บ้านนาทัน อ.สมเด็จ และชาวบ้านนาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เพราะต้องเดินทางไกลและ

                บ้านเหล่าส้มลม อ.นาดูน จ.มหาสารคาม เกิดจากชาวบ้านดงดวน และบ้านหนองบัวน้อย อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
                เป็นต้น


                       สำหรับเถียงนาที่อยู่ใกล้ชุมชนหมู่บ้าน แม้จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงพัฒนาเป็นชุมชนใหม่น้อยกว่าก็ตาม
                แต่ก็พอมีอยู่บ้างในกรณีที่พ่อแม่มีบริเวณที่ดินในหมู่บ้านเหลือน้อยจนไม่พอใช้สร้างเหย้า - เรือนใหม่ หรือขนาด

                พื้นที่ในหมู่บ้านเริ่มแออัด พ่อแม่ของบางคนก็อาจจะให้ลูกหลานแยกครอบครัว โดยให้ไปปรับปรุงเถียงนาของ
                ตนที่อยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน ให้เป็นเหย้าอยู่อาศัยกันไปพลางๆ ก่อน แล้วต่อมาภายหลังก็มักจะมีเพื่อนบ้านออกไปอยู่

                สมทบมากขึ้น กรณีเช่นนี้ก็จะเกิดเป็นชุมชนใหม่ในลักษณะที่เรียกกันว่า “คุ้มน้อย” เช่น บ้านตาอุด คุ้มน้อย
                อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เป็นต้น

                                                            55
   52   53   54   55   56   57   58   59   60   61   62